
งานฝีมือด้านการถักทอมีทุกพื้นที่ทั่วโลก ประเทศไทยก็ขึ้นชื่อเรื่องการทักทอผ้าไทยด้วยเช่นกัน ส่วนในชนเผ่าของประเทศไทย มีชุดประจำเผ่าที่แตกต่างกันออกไป สำหรับชนเผ่ากะเหรี่ยงหรือคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงก็ได้ขึ้นชื่อว่า “เป็นชนเผ่าแห่งนักทอ” เช่นกัน เพราะชุดดั้งเดิมนั้นมาจากการทอเป็นหลัก
ถึงแม้ปัจจุบันในหลายๆ พื้นที่จะเปลี่ยนแปลงไปใส่ชุดตามยุคสมัยไป แต่เอกลักษณ์ของการแต่งกายก็ยังมีให้เห็นในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลงานบุญ พิธีสำคัญๆ ต่างๆ
สำหรับการทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์หรือกะเหรี่ยงโผล่วจังหวัดกาญจนบุรีของเรา จะเรียกว่า การทอผ้าว่า “ถะทะ” เป็นงานของผู้หญิงชาวกะเหรี่ยงที่อยู่บ้านประจำ ไม่ได้ออกไปทำงานที่ไหน หรือว่างเว้นจากการทำงานอย่างอื่น การทอผ้าจึงเป็นอีกกิจกรรมที่นิยมสืบทอดต่อกันมารุ่นต่อรุ่น
สำหรับชาวกะเหรี่ยงบ้านกองม่องทะ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีก็เช่นกัน ผู้หญิงที่ไม่ได้ไปทำงานนอกพื้นที่ทั้งหญิงสาวโสดและหญิงที่แต่งงานแล้ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุก็จะชอบทอผ้า เพื่อเป็นงานอดิเรก ทั้งไว้ใช้เองและเหลือก็จำหน่ายเพื่อสร้างรายได้
ในปัจจุบันต้องซื้อด้ายสีต่างๆ มาเอง ไม่มีการผลิตด้วยตนเองเหมือนสมัยก่อน ค่าต้นทุนก็แพงขึ้นไปด้วย เวลาที่จำหน่ายผลงานผ้าทอก็จะดูแพงไปด้วย เพราะแต่ละชิ้น แต่ละผืนต้องใช้เวลามากกว่า 1 เดือนทั้งนั้น เช่น ผ้าถุงนียอุ่ง (ผ้าทอที่มีลวดลายเฉพาะตัว) ก็ใช้เวลา 2-3 เดือน ราคาก็ 2,000-3,000 หรือมากกว่านั้น เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้เวลามากๆ อีกด้วย
งานผ้าทอที่นิยมทอกันหลักๆ ก็คือ
1. ย่าม
2. ผ้าถุง
3. โสร่ง
4. เสื้อกะเหรี่ยงหญิงสาวที่แต่งงานแล้ว (เสื้อครึ่งท่อน)
5. เสื้อกะเหรี่ยงชายสีขาวยาวทรงกระสอบ (ไช่พลู-ที่ใส่ได้ทั้งผู้ชายโสดและแต่งงานแล้ว)
6. เสื้อกะเหรี่ยงสาวโสดสีขาวทรงกระสอบยาว (ไช่กูวกี-ใส่เฉพาะหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน)
7. รวมทั้งผ้าห่มกะเหรี่ยงที่ไม่ค่อยนิยมทอกันแล้ว (พ่าไบ่ยลูวซ่า)
เสื้อกะเหรี่ยงที่ใส่ครึ่งท่อน (ใส่ได้ทั้งชายแหละหญิง) สีสันหลากหลายที่เห็นได้ทั่วไปจะไม่ค่อยนิยมทอกัน เพราะสามารถเลือกซื้อได้หลากหลายแบบตามร้านค้าที่ขายเสื้อกะเหรี่ยงทั่วไปอยู่แล้ว (ชาวกะเหรี่ยงโปว์จะเรียกว่าเสื้อแบบนั้นว่าเสื้อกะเหรี่ยงสะกอหรือปากญอ)
การทอผ้าแบบกะเหรี่ยงกาญจนบุรีก็เหมือนกะเหรี่ยงในภูมิภาคอื่นที่ใช้กี่เอวกระตุก ต้องนั่งพื้นทอ ยื่นเท้าไปข้างหน้าไม่เหมือนการทอแบบกี่กระตุกอื่นๆ ที่นั่งบนเก้าอี้ได้
เสื้อผ้าหรือของใช้ที่มาจากการทอผ้าสามารถเก็บไว้ได้นาน บางคนใช้ผ้าทอตั้งแต่เป็นเด็ก เก็บไว้จนโตเนื้อผ้าก็ยังใช้งานได้ดี ถือเป็นอีกอัตลักษณ์ของคนแต่ละพื้นที่ ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรี ก็ยังมีการสืบทอดการทอผ้าอยู่
“ส่วนตัวผู้เขียนก็รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ยังได้เห็นบรรยากาศของการรวมตัวกันของแม่บ้านกะเหรี่ยงที่มาทอผ้ากัน
แม้ว่าวัฒนธรรมและความเจริญจากภายนอกชุมชนเข้ามาทำให้หลายๆ วิถีชีวิตต้องปรับเปลี่ยนไป
แต่อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่ายังมีปราชญ์ชาวบ้านด้านการทอผ้าอยู่
ยิ่งมีเยาวชนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญและสืบทอดด้วยยิ่งเป็นเรื่องดี เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เอกลักษณ์ของการแต่งกายยังคงอยู่ต่อไปนั่นเอง”
ทุกภาพประกอบโดยผู้เขียน
ขอบคุณ Canva ใช้ตกแต่งภาพปก
เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !